รู้หรือไม่..."ฉลากอาหาร" ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง????  45

คำสำคัญ : ฉลากอาหาร  อาหาร  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  
บ่อยครั้งที่การพัฒนาฉลากสินค้าอาหารของหน่วยงานภาครัฐที่พัฒนาให้กับผู้ประกอบการนั้นมีข้อมูลบนฉลากที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากผู้ดำเนินโครงการยังขาดความรู้ด้านระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับฉลากอาหาร ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในด้านลบให้กับหน่วยงานผู้ให้ทุนอีกด้วย
 
วันนี้ จึงอยากขอเชิญทุกท่าน มาหาเรียนรู้กฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับฉลากอาหารไปพร้อม ๆ กันค่ะ
 
การแสดงข้อมูลบนฉลากอาหารนั้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 383) พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยอาหารแทบทุกชนิดที่ใส่บรรจุภัณฑ์ จะต้องมีการจัดทำฉลากอาหารที่ถูกต้อง เป็นกฏระเบียบที่ทางราชการบังคับใช้ แต่ก็มีอาหารที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องมีฉลาก ได้แก่

1. อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแก่ผู้บริโภคได้ในขณะนั้น เช่น หาบเร่ แผงลอย การออกบูธตามงานจัดแสดงสินค้า เป็นต้น

2. อาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใด ๆ หรืออาหารสดที่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็น และบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสดนั้นได้ แต่ไม่รวมถึงอาหารแปรรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปในภาชนะพร้อมจำหน่าย

3. อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงเรียน โรงแรม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารประเภทเดลิเวอรี่ด้วย
 
----
 
ในวันนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะสินค้าอาหารที่มักพบบ่อย ๆ นั่นคือ ฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย ข้อความฉลากเห็นได้อย่างชัดเจน อ่านง่าย ขนาดของตัวอักษรต้องสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียด ดังนี้
1. ชื่ออาหาร ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร (ยกเว้นพื้นที่ฉลากต่ำกว่า 35 ตารางเซนติเมตร ให้ใช้ความสูงไม่น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร) โดยชื่ออาหารแสดงเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกอาหารตามปกติ หรือ ชื่อที่แสดงประเภทชนิดอาหาร หรือ ชื่อทางการค้า แต่การใช้ชื่อทางการค้าจะต้องมีการแสดงชื่อชนิดอาหารกำกับด้วย โดยต้องมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน
2. เลขสารบบอาหาร เป็นเลข 13 หลัก ที่เปรียบเสมือนรอยพิมพ์นิ้วมือของอาหารนั้น ๆ อยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. สีของตัวเลขตัดกับสีพื้นของกรอบ ขนาดไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร และสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก (https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/010/1.PDF)
3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต
4. ปริมาณของอาหาร กรณีอาหารที่เป็นของแข็ง ระบุเป็นน้ำหนักสุทธิ / กรณีอาหารที่เป็นของเหลว ระบุเป็นปริมาตรสุทธิ / อาหารที่มีลักษณะครึ่งแข็งครึ่งเหลว หรือลักษณะอื่น อาจระบุเป็นน้ำหนักสุทธิหรือปริมาตรสุทธิก็ได้ / กรณีอาหารที่มีการกำหนดน้ำหนักเนื้อ ให้แสดงปริมาณน้ำหนักเนื้ออาหารด้วย
5. ส่วนประกอบที่สำคัญ แสดงเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณ เรียงลำดับจากปริมาณมากไปน้อย ยกเว้น อาหารที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว อาหารที่มีพื้นที่ฉลากน้อยกว่า 35 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงข้อมูลส่วนประกอบที่สำคัญ อาหารแห้ง หรือชนิผง หรือชนิดเข้มข้น ที่ต้องเจือจางก่อนบริโภค อาจเลือกแสดงส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณ หรือเมื่อเจือจางตามวิธีปรุงที่ตามที่แจ้งไว้บนฉลาก
6. กรณีที่มีสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกินเป็นส่วนประกอบของอาหาร หรืออาจมีการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ให้ระบุข้อความว่า "ข้อมูลสำรหบัผู้แพ้อาหาร มี ...." โดยขนาดของตัวอักษรต้องไม่เล็กกว่าตัวอักษรที่แสดงส่วนประกอบ และต้องแสดงไว้ที่ด้านล่างของการแสดงส่วนประกอบ รายละเอียดเพิ่มเติมของสารก่อภูมิแพ้ สามารถศึกษาได้จากประกาศฯ ฉบับที่ 383
7. ถ้ามีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปรอาหารนั้น ๆ ให้แสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับตัวเลขตาม International Numbering System for Food Additives เช่น
7.1 กรณีสีผสมอาหาร ระบุเป็น สีธรรมชาติ หรือ สีสังเคราะห์ ตามด้วยชื่อเฉพาะ หรือตัวเลขตาม International Numbering System for Food Additives
7.2 กรณีวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร และวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล ระบุเป็นชื่อกลุ่มหน้สที่ตามด้วยชื่อเฉพาะ
สำหรับวัตถุเจือปนอาหารที่ไม่ใช่วัตถุกันเสีย วันถุปรุงแต่งรสอาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล และสี ให้แสดงข้อความ "วัตถุเจือปนอาหาร" ร่วมกับชื่อเฉพาะหรือร่วมกับตัวเลข ตาม International Numbering System for Food Additives
8. กรณีมีการใช้สารแต่งกลิ่น ให้ระบุข้อความว่า "แต่งกลิ่นธรรมชาติ" "แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ" "แต่งกลิ่นสังเคราะห์" "แต่งรสธรรมชาติ" หรือ "แต่งรสเลียนธรรมชาติ"
9. แสดงวัน เดือน และปี สำหรับอาหารที่มีอายุการเก็บไม่เกิน 90 วัน หรือแสดงวัน เดือน และปี หรือเดือนและปี สำหรับอาหารที่มีอายุการเก็บเกิน 90 วัน โดยระบุข้อความ "ควรบริโภคก่อน" หรือ "หมดอายุ" กำกับไว้ด้วย
10. คำเตือน (ถ้ามี)
11. ข้อแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)
12. วิธีการปรุงเพื่อรับประทาน (ถ้ามี)
13. วิธีการใช้และข้อความที่จำเป็นสำหรับอาหารที่มุ่งหมายจะใช้กับทารก หรือเด็กเล็ก หรือบุคคลกลุ่มใดโดยเฉพาะ
14. ข้อความที่กำหนดเพิ่มเติมตามบัญชีแนบท้ายประกาศ
15. ข้อความที่ต้องมีสำหรับอาหารที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข
 
ทั้งนี้ ฉลากอาหารต้องไม่สร้างความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ระหว่างอาหาร กับข้อความ รูปภาพ เครื่องหมาย และต้องมีลักษณะ ดังนี้
- ไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ
- ไม่แสดงถึงชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร อัตราส่วนของอาหาร ปริมาณของอาหาร หรือแสดงสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ
- ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุตามข้อความ ชื่อ รูปภาพ เครื่องหมายหรือเครื่องหมายการค้าดังกล่าวผสมอยู่ในอาหารโดยไม่มีวัตถุนั้นผสมอยู่
- ไม่พ้องเสียง พ้องรูป กับคำหรือข้อความที่สื่อถึงคุณประโยชน์ สรรพคุณอันเป็นการโอ้อวด เกินจริง หรือเป็นเท็จ
- ไม่ขัดกับวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของไทย
- ไม่ส่งเสริมหรืออาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยก หรือผลกระทบในเชิงลบต่อสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ประเพณี
 
เนื้อหาดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลบนฉลากอาหารสำหรับผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น โดยทุกท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากประกาศฯ ทั้งสองฉบับ ตามลิงค์ ดังนี้
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER3/DRAWER091/GENERAL/DATA0000/00000520.PDF
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 383) พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ (เพิ่มเติม)

เขียนโดย : สุชานุช  ชนะชาญมงคล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : suchanuch.c@most.go.th