คำอธิบายเทคโนโลยี
สามารถผลิตน้ำโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง ที่มีความเข้มข้นถึง 30-40% ของวัตถุดิบแห้ง
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องประสบก็คือต้นทุนการผลิตด้านอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน กุ้งอนุบาล ซึ่งมีราคาแพงและส่วนใหญ่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมประมงและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยศึกษาการนำเศษเหลือทิ้งของกุ้งมาใช้ประโยชน์ขึ้น ภายใต้โครงการฯนี้ในส่วนของ วว. โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร จะดูแลในเรื่องของกระบวนการผลิตในระดับโรงงานนำทางและระดับอุตสาหกรรม ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา "เทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้งแบบครบวงจร " ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถผลิตน้ำโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง ที่มีความเข้มข้นถึง 30-40% ของวัตถุดิบแห้ง
ปัจจุบันมีโรงงานแช่เยือกแข็งกุ้งทั้งหมดประมาณ 146 โรงงานจะมีหัวกุ้งซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมที่เหลือจากการผลิตประมาณ 200 ตัน/วัน ซึ่งต้องนำไปทิ้ง หรือนำไปบดเป็นอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก โดยขายหัวกุ้งในราคาประมาณ 1-2 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นจึงเพิ่มมูลค่า โดยการนำหัวกุ้งมาสกัดโปรตีนออกมา เนื่องจากหัวกุ้งนั้นยังมีปริมาณโปรตีนที่มีประโยชน์สูง โดยในขณะนี้ วว.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับภาคเอกชนคือ บริษัทเวท ซุปพีเรีย คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีด้วย
โปรตีนเข้มข้นที่ผลิตได้จากเทคโนโลยีผลงานของ วว. นี้ จะนำไปผสมกับอาหารเลี้ยงกุ้งในสัดส่วนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร ซึ่งสามารถทดแทนอาหารเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน คือ อาทีเมีย (ไรชนิดหนึ่ง ใช้เป็นอาหารกุ้งวัยอ่อน) ที่มีราคาแพงจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 6,000-15,000 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพ โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศอเมริกา และจีนแดง ประมาณ 2,000 ตัน/ปี ( คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท) ทั้งนี้จากงานวิจัยระบุว่าหากเลี้ยงกุ้งด้วยอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนเข้มข้นนั้นจะให้ผลไม่แตกต่างจากอาทิเมีย และจะมีราคาถูกกว่ามาก โดยในประเทศไทย วว. เป็นหน่วยงานแรกที่สามารถสกัดโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้งได้ หัวกุ้ง 200 กก.จะได้โปรตีนเข้มข้น 100 กก. สัดส่วนได้ถึง 1 : 2 นับเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทย ซึ่งอาหารสำหรับกุ้งวัยอ่อน กุ้งอนุบาลนั้น จะมีมูลค่าแพงมาก กระป๋องหนึ่งประมาณ 300-400 บาท ดังนั้น วว. ก็เลยมุ่งเน้นมาทำการวิจัยด้านนี้ ปัจจุบันประเทศที่เป็นผู้นำด้านส่งออกกุ้งนั้นจะมี ไทย อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก ซึ่งไม่ทราบว่ามีประเทศไหนบ้างที่นำหัวกุ้งมาสกัด แต่ในภูมิภาคนี้เราคือรายแรกที่นำเอามาใช้ประโยชน์ด้วยการสกัดโปรตีนเข้มข้นโดยเทคโนโลยีฝีมือของนักวิจัยไทยอย่างแท้จริง
เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง ว่าประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกันคือ เครื่องบด ถังหมัก เครื่องกรองแยกกากและเครื่องระเหย โดยมีขั้นตอนการทำงานเริ่มจากนำหัวกุ้งที่เหลือจากโรงงานแช่เยือกแข็ง โรงงานกุ้งกระป๋อง ต่างๆ นำมาบดหยาบด้วยเครื่องบดให้ได้ขนาด 1 เซนติเมตร โดยหัวกุ้ง 100 กิโลกรัมจะใช้เวลาในการบดประมาณครึ่งชั่วโมง
หลังจากนั้นก็จะมาสู่การหมักในถังหมัก ในขั้นตอนนี้จะมีการใส่อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีจุลินทรีย์ซึ่งเตรียมได้จากห้องปฏิบัติการของศูนย์จุลินทรีย์ วว. โดยในการหมักนี้จะต้องรักษาอุณหภูมิ รักษาความเป็นกรด-ด่าง ( pH ) ให้อยู่ที่ประมาณ 5-5.5 หลังจากนั้นนำมากรองแยกกากด้วยเครื่องกรองแยกกาก ซึ่งจะแยกน้ำหมักและกากออกจากกัน โดยกากส่วนนี้คือวัตถุดิบที่นำไปทำไคติน ในส่วนของน้ำหมัก (Hydrolysate) ที่แยกได้ จะนำเข้าสู่เครื่องระเหยเพื่อฆ่าเชื้อและจะได้น้ำโปรตีนเข้มข้น หากเอาหัวกุ้งสดมากมาสกัดก็จะได้โปรตีนสูง หากนำกุ้งเน่ามาสกัดก็จะได้น้อย เนื่องจากโปรตีนจะถูกทำลาย หรือหากเป็นกุ้งคนละพันธุ์ก็จะให้ปริมาณโปรตีนที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของการหมักด้วย ในด้านการควบคุมอุณหภูมิ การควบคุม pH …น้ำโปรตีนเข้มข้นที่ได้สามารถนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ได้เลยตามสัดส่วนที่ต้องการ เช่น เป็นอาหารของกุ้งวัยอ่อน กุ้งอนุบาล โดยน้ำโปรตีนเข้มข้นที่เหลือจากการผสมสามารถเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีความเย็นต่ำ เพื่อเป็นวัตถุดิบที่พร้อมนำไปผสมกับอาหารสัตว์ในสูตรต่างๆ โดยปกติจะเก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่โดยทั่วไปในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม/โรงงานจะเก็บไว้ ไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้นก็นำผสมเป็นอาหารสัตว์หมด เพราะหากเก็บไว้นานก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับคำแนะนำปรึกษาได้ที่ นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. โทรศัพท์ 0 2 577 9000 0 2577 9133 ในวันเวลาราชการ
ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทรศัพท์ : 0-2333-3917,3918 โทรสาร 0-2333-3931
เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ใช้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา 3.0 ประเทศไทย สามารถทำซ้ำดัดแปลงและเผยแพร่ต่อได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตราบเท่าที่ระบุว่ามาจากเว็บไซต์แห่งนี้
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี | Copyright © 2022 - All Rights Reserved - http://www.clinictech.ops.go.th
Template by OS Templates