หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (หมู่บ้านแม่ข่าย วท.) : เป็นกลไกส่งเสริมให้
หมู่บ้าน/ชุมชน นำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหลัก จนเป็นแบบอย่างให้แก่หมู่บ้าน/ชุมชนอื่นๆ โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2553 โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ สส.สป.วท. ดำเนินโครงการหมู่บ้านแม่ข่าย วท. ขึ้นภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้หมู่บ้านและชุมชน นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหลัก จนเป็นแบบอย่างให้แก่หมู่บ้านและชุมชนอื่นๆ โดยการดำเนินโครงการฯ มีการประสานความร่วมมือใน 4 ภาคส่วน คือ ภาคราชการและท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคเอกชน รวมทั้งมีการส่งต่อบริการแบบครบวงจรตามแนวทางห่วงโซ่แห่งคุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การลดค่าใช้จ่าย การขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนในชนบท โดยกำหนดเป้าหมายของโครงการฯ คือ 1 อำเภอ 1 หมู่บ้านแม่ข่าย
นิยาม หมู่บ้านแม่ข่าย วท.
เป็นหมู่บ้านที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไป พัฒนา ต่อยอดและประยุกต์ใช้ประโยชน์ให้เกิดอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและอาชีพอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และ ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนสามารถเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่น ๆ

กระบวนการพัฒนาหมู่บ้าน วท. เพื่อยกระดับเป็นหมู่บ้านแม่ข่าย วท. มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการพัฒนาใน 3 ปี มีการบ่มเพาะองค์ความรู้ (Knowledge) สร้างทักษะความชำนาญ (Skill) ภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology) ให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต (Productivity) การพัฒนาผลิตภัณฑ์(Product development) การบริหารจัดการ(Management) การพัฒนาแบบครบวงจรห่วงโซ่แห่งคุณค่า(Value chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์(Value added) รวมถึงการสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ การสังเกต การระบุปัญหา การทดลอง การจดบันทึก การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลและการสรุปผล เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude) ที่ดีต่อการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ประโยชน์ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) มาปรับใช้ ตามความเหมาะสมของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน ควบคู่ไปกับฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องไปด้วยกัน เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลการดำเนินโครงการจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2556) มีหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางด้าน วทน. จำนวน 251 หมู่บ้าน 206 อำเภอ 64 จังหวัด และมีหมู่บ้านที่ดำเนินการครบ 3 ปีและสามารถพัฒนาตนเองเป็นหมู่บ้านแม่ข่าย วท. จำนวน 52 หมู่บ้าน ภายใต้ 6 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ 5 หมู่บ้าน เทคโนโลยีด้านการผลิตปุ๋ย 24 หมู่บ้าน เทคโนโลยีด้านการเกษตร 12 หมู่บ้าน เทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 6 หมู่บ้าน เทคโนโลยีพลังงานทดแทนการจัดการของเสียและเศษวัสดุ 4 หมู่บ้าน และเทคโนโลยีด้านเครื่องปั้นดินเผาเซรามิก 1 หมู่บ้าน
ดังนี้
- สนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานและสถาบันการศึกษา จำนวน 37 แห่ง 105 โครงการ เป็นเงิน 26,945,710 บาท จำนวนผู้รับบริการทั้งหมด 9,249 คน โดยจำนวนโครงการ และเป้าหมายผู้รับบริการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (แผน 105 โครงการ 4,500 คน) ดังนี้
- หมู่บ้านแม่ข่าย จำนวน 42 หมู่บ้าน งบประมาณ 13,240,000 บาท ผู้รับบริการ 6,004 คน
- หมู่บ้านฯ ต่อเนื่อง (ดำเนินการ 2 3 ปี) จำนวน 27 หมู่บ้าน งบประมาณ 6,006,000 บาท ผู้รับบริการ 1,871 คน
- หมู่บ้านฯ ใหม่ (ดำเนินการปีแรก) จำนวน 36 หมู่บ้าน งบประมาณ 7,699,710 บาท ผู้รับบริการ 1,374 คน
- จัดประชุมชี้แจง/ทำความเข้าใจ แก่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพัน 2556 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานให้มากขึ้น
- การจัดนิทรรศการในงานวันเทคโนโลยี มีการผนวกเข้ากับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำผลงานมาจัดแสดงในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อชุมชน ณ ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ระหว่างวันที่ 14-18 สิงหาคม 2556 จำนวน 32 ผลงาน เป็นเงิน 1,054,200 บาท
- การติดตามความก้าวหน้าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2556 โดยเฉพาะโครงการปีแรก
- การประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและการติดตามประเมินผลโครงการหมู่บ้านฯ จำนวน 105 โครงการ โดยมอบหมายให้ วว. เป็นผู้ดำเนินงาน งบประมาณ 2,000,000 บาท
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 นับเป็นอีกวันหนึ่งของความภาคภูมิใจของผู้นำหมู่บ้านและหน่วยงานที่ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านตลอดระยะเวลา 3 ปี จนสามารถยกระดับหมู่บ้านจากหมู่บ้าน วท. เป็นหมู่บ้านแม่ข่าย วท. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อัจฉรา วงค์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบเกียรติบัตรพร้อมโล่เชิดชูเกียรติให้กับหมู่บ้านที่ผ่านการประเมินสถานะหมู่บ้านในระดับแม่ข่าย จำนวน 52 หมู่บ้าน